วิสัยทัศน์ 2566 - 2570 : "ตรวจสอบบัญชี และส่งเสริมการทำบัญชี เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใส แก่สหกรณ์และเกษตรกร”

 

 

 

 
 

 
 
คุณธรรมจริยธรรม
ศีล ๕
 

ความหมายศีล ๕


1. ศีล มาจากคำว่า "สิระ”ซึ่งแปลว่า ศีรษะ หรือ ยอด เพราะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดคนนั้น แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิน อำนาจ ความรู้ หรือความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น หากแต่อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของศีล ซึ่งเป็นที่ยอมรับยกย่องของเหล่าบัณฑิตว่า ผู้มีศีลย่อมประเสริฐที่สุด

2. ศีล มาจากคำว่า " สีละ”ซึ่งแปลว่า ปกติ เพราะปกติของคนเรานั้นย่อมรักชีวิตของตน และเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ จึงยินดีในการรักษาศีล เพราะไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน การรักษาศีลจึงเป็นการนำไปสู่ความเป็นคนที่ปกติสมบูรณ์

3. ศีล มาจากคำว่า " สีตะละ”ซึ่งแปลว่า เย็น เพราะผู้ที่รักษาศีล จะมีความเย็นกาย เย็นใจ ดุจดัง บุคคลผู้อาบน้ำชำระกายหมดจดดีแล้ว นั่งพักอยู่ ณ ร่มไม้ใหญ่ ความสงบเยือกเย็นนี้ แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ ก็จะรู้สึกปลอดภัย เย็นใจไปด้วย

4. ศีล มาจากคำว่า " สิวะ” ซึ่งแปลว่า ปลอดโปร่ง เพราะผู้ที่รักษาศีลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะนึกถึงการกระทำของตนเรื่องใด ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นโทษ ไม่มีสิ่งใดเดือดร้อนกังวลใจ จึงมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง โล่งใจ และปลอดจากเวรภัยทั้งหลาย

      ดังนั้น ศีล จึงเป็นคุณธรรม ที่ทำให้เข้าถึงความเป็นยอดคน เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์แบบ มีความเป็นปกติ เป็นผู้ที่เย็นกาย เย็นใจ และมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง ปลอดภัยอยู่เสมอ สำหรับความหมายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคนั้น พระสารีบุตรเถระได้กล่าวไว้ว่า 
      ศีล คือ" เจตนา” ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติ ผิดกาม)  
      วจีทุจริต 4 คือ ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจอ
      ศีล คือ" เจตสิก” หมายถึงการงดเว้นจากมโนทุจริต 3 (ความโลภอยากได้ของผู้อื่น, มีจิตคิดพยาบาท,
      มีความเห็นผิด)
      ศีล คือ ความสำรวมระวัง ปิดกั้นความชั่ว
      ศีล คือ การไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม
ศีล 5 เป็นคุณธรรมพื้นฐาน
     
     เกิดขึ้นจากสามัญสำนึกของมนุษย์ ที่ปรารถนาจะอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข ปลอดภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวอันตราย หรือกลัวว่าจะถูกเบียดเบียนทำร้าย ไม่ว่าจากใคร หรือด้วยวิธีใดก็ตาม ศีล เป็นมหาทาน การรักษาศีล ไม่เพียงเป็นการรักษาความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์ หรือเพื่อรักษากฎเกณฑ์ ในการอยู่ร่วมกันในสังคมเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการให้ทานที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการให้วัตถุใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาล นั่นคือได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทันที กล่าวคือ
    เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 1 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ย่อมได้ชื่อว่า ให้ชีวิต ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ
    เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 2 คือ ไม่ลักทรัพย์ ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง
   เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 3 คือ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความสุข ให้ความปลอดภัย แก่บุตร ธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด
   เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 4 คือ ไม่กล่าวคำเท็จ ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความสบายใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
    เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 5 คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง เพราะคนที่ประมาทขาดสติ นั้น สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือพูดเท็จก็ทำได้ทั้งสิ้น
    การรักษาศีล จึงเป็นบุญอันพิเศษอย่างยิ่ง เพราะได้ทั้งบุญจากการบำเพ็ญมหาทาน และบุญจากการรักษาศีล และนี่เป็นเพียงศีล 5 อันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น หากรักษาศีลในข้อที่สูงยิ่งขึ้นไป ย่อมเป็น มหาทานอันยิ่งใหญ่ เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ อย่างสุดที่จะประมาณได้
 
อานิสงส์ของการรักษาศีลมี 5 ประการ คือ
     1. ย่อมได้โภคทรัพย์สมบัติมากมาย

    2. กิตติศัพท์อันดีงามย่อมขจรขจายไป

    3. มีความองอาจเมื่อไปสู่ชุมชนใดๆ

    4. ไม่เป็นผู้หลงตาย (ไม่ตายอย่างไร้สติ)

    5. เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมมีสุคติเป็นที่ไป

วิสัยทัศน์สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กาฬสินธุ์ บริการโปร่งใส  ด้วยใจเป็นธรรม

สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กาฬสินธุ์ 3/1 ถ.เลี่ยงเมืองทุ่งมน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 46000 โทร.0-4381-2083 แฟกซ์.0-4381-5365 http://kalasin.cad.go.th E-Mail : [email protected]